มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย
FOUNDATION for ACTION on INCLUSION RIGHTS
แม้สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา เช่น คดีลักทรัพย์ เล่นการพนัน เสพยาเสพติด คือให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีการพิสูจน์ได้ว่า เป็นผู้กระทำความผิด แต่กรณีเฉพาะด้านยาเสพติด หรือการที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างว่า มียาเสพติดเกี่ยวข้อง มักถูก “ตัดความบริสุทธิ์ทิ้ง” โดยละเลยข้อเท็จจริง
ไม่ใช่เพียงแค่ “เสพ” หรือ “ค้า” แต่ถ้ามีชื่อไปพัวพันกับยาเสพติดเข้าแล้ว ล้วนกลายเป็นเรื่องเล่นกับไฟ แต่ไม่ใช่ไฟโดยธรรมชาติ หากเป็นเพลิงพิโรธที่โหมโดยนโยบายและเจ้าหน้าที่รัฐ และนี่คือกรณีตัวอย่างของความล้มเหลวของ “ขบวนการสังหารแพะ” กับ 3 กรณี ที่ยาเสพติดกลายเป็นเพียงข้ออ้าง ระดับ Premium ให้กับผู้คน สื่อมวลชน สังคม และเจ้าหน้าที่รัฐ
แม้ปี ค.ศ. 2024 การเต้น Breakdance (B-Boy / B-Girls) จะถูกบรรจุเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาให้ชิงชัยในโอลิมปิกส์ เกมส์ แต่มีพื้นที่แห่งหนึ่งบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี ของประเทศสารขัณฑ์ เคยมีประวัติศาสตร์การพิพาท เนื่องจากเด็กและเยาวชนกว่า 50 คน มารวมกลุ่มกันเปิดเพลง ซ้อมเต้น พฤติกรรมคือ จะมีการรวมตัวกันตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของทุกวัน จากนั้นจะเปิดเพลงที่ชาวบ้าน ร้านตลาด ชุมชน ฟังไม่รู้เรื่องเต้นหัวหกก้นขวิดกันจนสี่ถึงห้าทุ่ม
ทั้งที่ พื้นที่ที่เด็กเยาวชนเหล่านี้ไปเต้นกัน คือ “ลานกิจกรรมริมแม่น้ำ” ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ก็มิวายได้รับเสียงก่นด่าจากผู้อาศัยใกล้เคียง จนถึงจุดแตกหัก เมื่อชุมชนพากันร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด โดยอ้างว่า มีการมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด หลังจากหน่วยงานในพื้นที่รับเรื่องแล้ว มีการนำเสนอเป็นข่าวภายในใหญ่โต จนกลุ่มนักเต้นต้องพักการเต้นเว้นระยะ เพราะถูกด่าไม่ไว้หน้าจากชาวประชา ขณะที่หน่วยงานได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยรอบอย่างละเอียด “ไม่พบว่ามีการใช้ยาเสพติด” บนพื้นที่ดังกล่าว
หลังจากนั้น ต้องชื่นชมหน่วยงานราชการ ที่เลือกใช้วิธีทำความเข้าใจกับชุมชน และสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องเสียงในลานกิจกรรม เพื่อสนับสนุนให้กลุ่ม B-Boy / B-Girls ได้ใช้ประโยชน์ด้วยกัน แบบไม่อึกทึก เท่านั้นไม่พอ เทศบาลยังจัดประกวดประจำปีขึ้นมา และใช้เวทีประกวดเป็นหนึ่งเครื่องมือในการร่วมสอดส่องดูแลพื้นที่ร่วมกับวัยรุ่น
ท้ายที่สุดกรณีนี้ “ไม่มียาเสพติดเกี่ยวข้อง” แถมยังสะท้อนมาตรการป้องกันยาเสพติด โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของวัยรุ่น B-Boy / B-Girls และผู้อาศัยในชุมชน จนเกิดทางออกร่วมที่ประสบความสำเร็จซึ่งน่านำไปเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายพื้นที่
หนึ่งคดีที่เป็นข่าวใหญ่ปลายปี 65 ของประเทศไทย คือ กรณีกราดยิงศูนย์เด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภู จนสูญเสียหลายชีวิต เช่นกันกับข่าวร้ายหลายเนื้อหา ที่ถูกวิเคราะห์ไปต่าง ๆ นานาว่า ผู้ก่อเหตุเสพยา เมายา หรือเป็นผู้ป่วยจิตเวช แม้กระทั่งกับสื่อที่เรียกได้ว่าน่าจะมีจรรยาบรรณมากสุดอย่าง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่พาดหัวข่าวคราวแรกว่า “คาดผู้ก่อเหตุกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก...มีพฤติกรรมเสพยาเสพติด เกิดความเครียด และหลอน ก่อนก่อเหตุกราดยิง” (6 ต.ค. 2565) แต่รุ่งขึ้นวันต่อมา การรายงานข่าวกลับตาลปัตร “ผบ.ตร.เผยผลตรวจ อดีต ตร. กราดยิงหนองบัวลำภู ไม่พบสารเสพติด” (7 ต.ค. 2565)
กรณีนี้เชื่อว่า จวบจนปัจจุบันเรา ๆ ท่าน ๆ หลายคนยังปักใจว่า “ยังไง ๆ ก็เมายา” ทั้งที่มีการยืนยันแล้วจาก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าผลตรวจเบื้องต้นไม่พบสารเสพติด ขณะที่ตรวจซ้ำโดยแพทย์แล้วยังย้ำความชัดเจน “ไม่พบสารเสพติดในร่างกายผู้ก่อเหตุ”
คำถามมากมายเกิดขึ้นกับเรื่องนี้ เมื่อมียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ในกล่องพัสดุส่งจากต่างจังหวัด โดยใช้ชื่อและบัตรประชาชน “นาย A” เป็นผู้ส่ง แต่เจ้าตัวคือ นาย A ที่ถูกอ้างมีหลักฐานที่อยู่ สแกนนิ้วเข้าทำงานอยู่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งเพื่อนร่วมงาน นายจ้าง ลูกค้า ร่วมเป็นพยานในกระบวนการสอบสวน แต่อัยการเห็นค้าน สั่งฟ้อง เพราะเชื่อพยานปากเดียวคือ ร้านส่งพัสดุที่ชี้บัตรประชาชนได้ แต่ไม่สามารถชี้ตัวผู้ต้องหาวันชี้ตัวได้
ตลอดระยะเวลานานกว่า 2 ปี ที่เจ้าตัวถูกจองจำพร้อมคำถามในหัวว่า “ผิดอะไร” ท้ายที่สุดศาลพิพากษา ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิด ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษายกฟ้อง และให้ออกหมายปล่อยจำเลย ... จนถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานว่า ได้รับการเยียวยาช่วยเหลืออะไรกับ “นาย A” ... แต่สองปีแห่งความมืดดำท้ายเรือนจำนั้น ตัวเขาไม่มีสิทธิรู้เลยว่า ชาวบ้านร้านตลาดขนานนามตัวเองว่าอย่างไร จนถึงกับทำให้ภรรยาต้องขอเลิกรากันไป ซ้ำร้ายกว่า คือ การที่เจ้าตัวไม่สามารถขอลาพักจากคุกมาร่วมงานศพของบิดาตัวเองได้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างรอบด้าน ว่าที่ผ่านมายาเสพติด พ่วงด้วยอาการทางจิตเวช ล้วนเป็น “แพะ” ในกระแสสื่อและสังคม ที่ไม่มีใครหาญกล้าลุกขึ้นมาตั้งข้อสังเกต หรือแสวงหาเหตุ – ผล – ข้อเท็จจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย และ “เทรนด์” นี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป ตราบใดก็ตามที่เรายังแขวนป้ายไวว่า “ยาเสพติด = ปีศาจร้าย”
สุดท้ายนี้หากคุณเป็นหนึงในผู้ตกเป็นผู้เสียหาย ถูหรือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้ เพราะคุณใช้สารเสพติด เช่น ถูกบังคับบำบัด บังคับเข้าค่ายบำบัด บังคับให้เลิกใช้สารสารเสพติด ถูกเรียกรับผลประโยชน์ ถูกยัดยา/ยัดข้อกล่าวหา ถูกกระทำความรุนแรง ถูกบังคับตรวจปัสสาวะ ถูกทำให้อับอาย ถูกซ้อมทรมาน หรือปฏิบัติที่โหดร้าย ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน หรือให้ออกจากงาน ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียน ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน ถูกปฏิเสธการรักษา สามารถโทรมาที่ "บ้านเสมอ" 08 3543 3608 หรือ Line @baansamer ได้ตลอกเวลา พวกเราพร้อมดูแลคุณ