สังคมไม่นิยมการติด

สังคมไม่นิยมการติด

: กับการไม่พากันคิดถึงต้นตอ รังแต่จะปลุกกระแสให้เกลียดกลัวที่พฤติกรรมของบุคคล

หากกฎหมายบัญญัติว่า “เมีย” คือสิ่งผิด และการมีไว้ในครอบครองเพื่อการใดก็ตามต้องรับโทษ หรือระบุว่า “กาแฟ” เป็นเมล็ดพันธุ์ห้ามเพาะปลูก มิให้จำหน่ายและคาดโทษหากมีผู้บริโภค ... เราคงต่างเป็น “คนเลว” หรือ “คนร้าย” ของประชากรโลกกันมากมาย

แต่เมื่อไม่มีข้อห้ามให้ “ติด” สองสิ่งที่ว่าไป จึงไม่ใช่เรื่องต้องหวาดระแวงหรือตื่นกลัวถ้าจะ “ติดเมีย” หรือ “ติดกาแฟ” ด้วยการบริโภคสู่ร่างกายอย่างเปิดเผยวันละกี่หน่วยก็ย่อมได้

อุปมาอุปไมยข้างต้นเป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว “การติด” เป็นเพียงพฤติกรรม แต่มีบางพฤติกรรมที่ถูกระบุอย่างชัดเจนว่า “ผิด” ด้วยกฎหมาย จนกลายเป็นการสร้างภาพจำให้เกิดความเกลียด-กลัว ต่อผู้มีพฤติกรรมเหล่านั้น

หากจับกระแสข่าวเด่นในรอบสัปดาห์จะพบ 2 เนื้อหา ที่พูดถึงผลกระทบของ “การติด” แตกต่างกันออกไป หนึ่งคือข่าวเจ้าหน้าที่บ้านเมืองบุกจับปาร์ตี้ ที่พบการใช้สารเสพติดเพื่อมีเพศสัมพันธ์ มีการปั้น “วายร้าย” ด้วยเสียงหยอกเอินบนพาดหัวข่าวหลายสำนัก จนทำให้กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายกลายเป็นกลุ่มคนน่าขบขันและไร้ยางอาย พฤติกรรมการจัดกิจกรรมเพื่อความรื่นรมย์ทางเพศพร้อมใช้สารเสพติด ถูกผลักให้เป็นเรื่องในมุมมืด ซึ่งสังคมพยายามปั้นหน้าสะอิดสะเอียน โดยมองข้ามอาญชากรรมทางเพศ การชำเรา ข่มขืน และเหตุรุนแรงที่เกิดจากกำหนัดของมนุษย์ได้หน้าตาเฉย ทั้งที่ข่าวคราวการบุกจับครั้งนั้น เน้นขายว่า กลุ่มคนที่มีหน้าตาทางสังคมก็ร่วมอยู่ทั้งนักแสดง แพทย์ และนักธุรกิจ ...

จึงอดคิดไม่ได้ว่า แล้วการที่คนบางกลุ่มมีความต้องการใช้สารเสพติดเพียงชั่วครั้งคราว หรือเพื่อบางกิจกรรมโดยไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน และตัวตนในสังคม ทำให้บุคคลเหล่านั้นกลายเป็น “คนเลว” ไปเพียงชั่วข้ามคืนได้อย่างไร

และทำไมรัฐถึงล้มเหลวกับการ “กวาดล้าง” หรือ “ขจัดสิ้น” ยาเสพติดตามนโยบายที่เป็นดั่งผนังทองแดงกำแพงเหล็กของพรรคแกนนำรัฐบาล ... หรือเพราะการก้มหน้ายอมรับว่า ไม่มีวันที่ยาเสพติดจะหมดไปจากประเทศไทยมันทำให้เทสของความเป็นนักการเมืองดูเป็นคนขี้แพ้ เราจึงพยายามมองหาแต่ “ปีศาจ” จากผู้ใช้ไม่ใช่ผู้ค้าหรือผู้ผลิต

ขณะที่อีกข่าว เป็นเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล โดยมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการบำบัดพฤติกรรมติดแอลกอฮอล์ ... คนตายไม่สามารถพูดได้ แค่เรี่ยวแรงเปิดปากตัวเองยังไม่มี เรื่องนี้ไม่สามารถบอกได้ทันทีว่า เจ้าตัว “ยินยอม” เข้าสู่กระบวนการนี้ด้วนตนเอง หรือถูก “บังคับ” ทั้งจากครอบครัวและสภาพแวดล้อมในสังคม แต่การถือคติว่า ทุกพฤติกรรมติด ต้อง “หักดิบ” นั้น มีผลกระทบพอ ๆ กับผลกระทบของพฤติกรรมเสพติด

... หากคุณเป็นคนติดเมีย เพียงลองคิดว่าจะต้องแยกกันอยู่เพื่อเข้าคอร์สบำบัดการติด 24 วัน โดยถูกขังไว้ในห้องปราศจากความบันเทิงความรู้สึกแก่ใจที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร (สามีหลายท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้คงมีไม่น้อยที่คิดว่า ยินดีให้เรื่องนี้เกิดขึ้น โดยลืมคิดไปว่านี่เป็นสมมติฐานบนอุปมาอุปไมย) หรือให้ง่ายขึ้นหากคุณเข้าขั้น “ติด” กาแฟ ลองสังเกตว่า พฤติกรรมในวันที่จำต้องอดนั้น จะทรมานกายมากแค่ไหน แล้วต้องกำหนดพฤติการณ์ของตัวอย่างไรเพื่อบรรเทาการติดในทุกวัน

เพราะต้นทุนของการส่งคน (ทั้งที่มีพฤติกรรมเสพติด หรือผู้มีปัญหาสุขภาพจิต) ไปกักขังเพื่อ “หักดิบ” โดยปราศจากการแยแส แล้วหวังให้เลิกขาดด้วยการเปลี่ยนคนหนึ่งคนนั้น ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยง ทั้งต่อเจ้าตัวเองรวมถึงคนรอบข้างในฐานะผู้ให้บริการ... แล้วเราจะยังศรัทธาอย่างไม่มีข้อสงสัยในกระบวนการที่เริ่มต้นด้วยการ “บังคับ” เหล่านี้ได้อยู่ไหม ?

ในเมื่อสังคมไทยไม่นิยมให้มีการ “ติด” ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องพากันคิดถึง “ต้นตอ” เพื่อแก้ปัญหา หรือมองทางเลือกนโยบายในการ “จัดการ” สิ่งที่ “ทำให้เกิดการติด” รวมถึงผู้มีพฤติกรรมการติดนี้ ในแบบที่ไม่ใช่ต้องเป็นวายร้ายไปตลอดกาล ... เช่นนั้นแล้ว เราต่างก็แค่รอเวลาเป็นคนเลวของใครสักคนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ท้ายที่สุดนี้หากท่านหรือคนใกล้ตัว ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือถูกเลือกปฏิบัติ ถูกกระทำความรุนแรง ถูกจับกุมโดยมิชอบ หรือดำเนินคดีในข้อหาที่รุนแรงเกินกว่าการกระทำผิด รวมถึงการถูกบังคับบำบัด ติดต่อบ้านเสมอเพื่อเป็นที่ปรึกษาและช่วยเหลือได้ทันที ที่นี่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่ตัดสินท่าน ในวันที่หันไปทางไหนก็เจอแต่ "ไม้บรรทัด" ในสังคม

บ้านเสมอ โทร. 08 3543 3608

Line @baansamer

https://lin.ee/SmTSpST

หรือ On Site ที่ https://maps.app.goo.gl/hzBcEvLKHzHZNUhS7