สรุปรายงานการดำเนินงานบ้านเสมอ ปี พ.ศ. 2567

นับจากวันแรก (เดือนกรกฎาคม 2567) ที่มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย เปิดให้บริการ “บ้านเสมอ” เพื่อช่วยเหลืออย่างรอบด้านกับผู้มีเชื้อเอชไอวี ผู้ใช้สารเสพติด รวมทั้งกลุ่มประชากรอื่น ๆ ที่เข้าข่าย ต้องเผชิญกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิ ถูกเลือกปฏิบัติ ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาสามารถสรุปการทำงานของพวกเรา เป็นการให้บริกลุ่มเป้าหมายไปแล้ว 401 ราย ใน 83 กรณี

ซึ่งบริการด้านสิทธิและกฎหมาย (ขอคำปรึกษา - ขอความช่วยเหลือ) ยังคงเป็นเรื่องหลัก ที่ได้รับความไว้วางใจให้ดูแล (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) แต่ตัวเลขที่ปรากฏนั้นสะท้อนนัยสำคัญของสถานการณ์ด้านสิทธิในสังคมไทย คือ

  • ภายใต้ความสับสนของกฎหมายยาเสพติด และกฎกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ (ปี 67) ที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น สร้างความอลหม่านให้กับผู้ใช้สารเสพติด ครอบครัวทั้งที่ ‘ยินดี’ ถูกบังคับบำบัด เพื่อไม่ให้ถูกต้องโทษจำคุกเป็นอย่างมาก
  • สถานการณ์ของผู้ใช้สารเสพติด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ยังต้องเผชิญการถูก “ประณาม” จากสังคม และด้วยเสียงสนับสนุนแรงโห่ร้องแห่แซวข้างเวทีของประชาชน ได้กลายเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ ผู้บังคับใช้กฎหมาย – สื่อมวลชน หลงระเริงไปว่า ตนถืออำนาจที่จะปฏิบัติประการใด รูปแบบไหนกับผู้ใช้สารเสพติดก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อหลักการสิทธิมนุษยชน (ตัวอย่างเช่นกรณีบุกจับปาร์ตี้เมื่อปลายปี)
  • แรงงานข้ามชาติ คือ กลุ่มคนล่างสุดของห่วงโซ่แรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งจากการถูกโกงค่าแรง ได้รับค่าแรงไม่เป็นธรรม ปฏิเสธการใช้สิทธิบริการด้านสุขภาพ ซ้ำร้าย แม้จะเป็นกลุ่มเข้าเมืองถูกกฎหมายก็เสี่ยงต่อการถูก ‘เบี้ยว’ จากนายจ้างหัวหมอ ที่หักเงินอ้างว่า สมทบส่งประกันสังคมทุกเดือน แต่สุดท้ายโป๊ะแตกเมื่อเกิดการเจ็บป่วยแล้วไม่สามารถไปใช้บริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ (อ่าน : โรงงานทุนจีนในระยองจ้างแรงงานเมียนมา 280 คน หักเงินค่าประกันสังคมทุกเดือนแต่ไม่นำส่ง แรงงานโอดไปใช้สิทธิแต่ต้องจ่ายเอง)
  • บริการด้านสุขภาพ สุขภาวะทางเพศ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรชุมชนที่ “ใกล้ชิด” กับกลุ่มเป้าหมายมามีบทบาทร่วมดำเนินงาน เพราะการเข้าถึง เข้าใจ และไม่ปล่อยผ่านปัญหา รวมทั้งบริการที่ไม่ตีตราตัดสิน จะช่วยทำให้สุขภาพของประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
  • บริการด้านสุขภาพจิต ที่ครบถ้วนและให้อิสระการตัดสินใจเลือกชุดบริการแก่ผู้รับบริการ จะเป็นชุดบริการสำคัญที่จำเป็นต่ออนาคตหลังจากนี้ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ของประเทศไทยนั้น ยังไม่มีหน่วยบริการที่เพียงพอต่อการรองรับความต้องการของผู้มาใช้บริการ

และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงานให้บริการสาธารณะของ “บ้านเสมอ” โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องให้คำมั่นสัญญาอะไรทิ้งท้าย แต่ขอพียงให้ทราบว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณหรือคนรอบตัวถูกเลือกปฏิบัติ เราพร้อมจะยืนเคียงข้างเสมอ”